ms

 

เช็คด่วน!! คุณกำลังเสี่ยงเป็นโรคเอ็มเอส หรือเปล่า ? ภัย!!เงียบ ของคนวัยทำงาน

หากกล่าวถึงคนวัยทำงาน หลายคนมองว่า ช่วงวัยยี้เป็นช่วงวัยที่ลุย ช่วงที่เก็บโกยเงิน และประสบการณ์ชีวิต แต่แท้จริงแล้ว ปัจจุบันมักพบว่าช่วงวัยนี้นั้นเป็นช่วงวัยแห่งการเกิดโรค และอาการเจ็บปวดต่างๆ  หากคุณอยู่ในวัยทำงานหรือวัยหนุ่มสาว หรือไม่ลองสังเกตคนวัยทำงานเหล่านี้ดู จะทราบว่าคนช่วงวัยนี้มักรู้สึกมีอาการอ่อนเพลียไม่ค่อยมีแรง มีอาการชาตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย มีปัญหาในการเดินหรือการทรงตัว ตามัวมองไม่เห็น ขอบอกเลยว่านี่คือสัญญาณเตือน ระวัง… คุณกำลังมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคเอ็มเอส ถึงแม้ว่าโรคนี้จะพบได้ไม่บ่อยนัก แต่เมื่อเป็นแล้วอาจจะมีอาการร้ายแรงจนถึงขั้นพิการได้

นพ.ชาคร จันทร์สกุล แพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ให้ข้อมูลว่า

โรคเอ็มเอส (MS) หรือชื่อเต็มในภาษาอังกฤษคือโรคมัลติเพิล สเคลอโรซิส (multiple sclerosis) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกประสาท (myelin sheath) ในระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งได้แก่ สมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาทตา ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรค แต่เชื่อว่าโรคนี้อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม พันธุกรรม การติดเชื้อไวรัสบางชนิด การที่มีระดับวิตามินดีในร่างกายต่ำ หรือมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

จากข้อมูลทางระบาดวิทยาพบว่า โรคเอ็มเอสเกิดขึ้นได้บ่อยในเขตละติจูดสูง ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นคนที่สืบเชื้อสายมาจากชาวยุโรป ปัจจุบันพบว่าโรคเอ็มเอสพบได้ในทุกเผ่าพันธุ์ เป็นได้ทั้งคนผิวดำ คนผิวขาว คนละตินอเมริกา คนเอเชียรวมถึงคนไทยด้วย โดยจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการในวัยทำงาน อายุประมาณ 20-30 ปี จึงก่อให้เกิดความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจได้ค่อนข้างมาก

mS 2

ผู้ป่วยโรคเอ็มเอสแต่ละคน จะมีอาการไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าเกิดการอักเสบของปลอกประสาทที่บริเวณใดในระบบประสาทส่วนกลาง ถ้าหากเกิดการอักเสบบริเวณเส้นประสาทตา ก็จะทำให้เกิดอาการปวดตา ตามัว มองไม่เห็น ถ้าเกิดการอักเสบบริเวณสมองส่วนที่ควบคุมเรื่องการทรงตัวก็อาจจะทำให้เกิดอาการ เดินเซ เวียนศีรษะบ้านหมุน เป็นต้น ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยของโรคเอ็มเอส ได้แก่

– รู้สึกอ่อนเพลียไม่ค่อยมีแรง

– มีอาการชาตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย

– มีปัญหาในการเดินหรือการทรงตัว

– ตามัวมองไม่เห็น

– แขนขาอ่อนแรงเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต

– ปัสสาวะไม่ออกหรือกลั้นปัสสาวะอุจจาระไม่อยู่

– มีอาการปวดตามที่ต่างๆ

– มีอาการซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน และความจำไม่ค่อยดี เป็นต้น

เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยโรคเอ็มเอสมักจะมีความพิการมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการอักเสบของปลอกประสาทที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งจะทิ้งรอยแผลเป็นเอาไว้ และร่างกายไม่สามารถสร้างเซลล์ประสาทหรือเส้นใยประสาทใหม่ขึ้นมาทดแทนได้ จึงทำให้ผู้ป่วยโรคเอ็มเอสจำนวนมาก อาจจะต้องใช้ไม้เท้าในการช่วยเดินหรือต้องนั่งรถเข็นภายในระยะเวลา 10-20 ปี

 โรคเอ็มเอส แบ่งตามลักษณะการดำเนินโรค ด้วยกัน 5 ชนิด ได้แก่1.โรคเอ็มเอสชนิดเป็นๆ หายๆ เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด โดยระยะแรกของการดำเนินโรค ผู้ป่วยมักกลับมาเป็นปกติหรือเกือบปกติหลังหายจากการกำเริบของโรค หลังจากนั้นจะกลับมาเป็นซ้ำอีก แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะกลับมาเป็นซ้ำอีกเมื่อไร

2.โรคเอ็มเอสชนิดมีการดำเนินโรครุดหน้าในภายหลัง โรคเอ็มเอสชนิดนี้มักจะเกิดหลังจากเป็นโรคเอ็มเอสชนิดเป็นๆ หายๆ ในช่วงแรก แล้วจะมีการดำเนินของโรคสู่ระยะลุกลามต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยจะเข้าสู่ระยะนี้ภายในระยะเวลา 15-20 ปี ในระหว่างที่เกิดการกำเริบของโรคอาการจะไม่บรรเทาลง แต่จะเลวร้ายลงเรื่อยๆ

3.โรคเอ็มเอสชนิดที่มีการดำเนินโรครุดหน้าตั้งแต่ระยะแรก เป็นชนิดที่พบได้น้อย โดยผู้ป่วยจะมีการดำเนินของโรครุดหน้าตั้งแต่ระยะเริ่มแรก อาการจะค่อยๆ แย่ลง และสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทีละน้อย ไม่มีการฟื้นตัว แต่จะอยู่ในสภาพของร่างกายที่เสื่อมโทรมลงอย่างต่อเนื่อง

4.โรคเอ็มเอสชนิดที่มีการดำเนินโรครุดหน้าและมีลักษณะของการเป็นๆ หายๆ ผู้ป่วยจะฟื้นตัวและกลับเป็นซ้ำอีก โดยการฟื้นตัวแต่ละครั้งจะมีความผิดปกติทางระบบประสาทส่วนกลางมากขึ้นเรื่อยๆ

5.โรคเอ็มเอสชนิดไม่รุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการเพียงเล็กน้อยและอาจมีอาการเพียงครั้งเดียวในชีวิต ซึ่งร่างกายผู้ป่วยจะสามารถฟื้นฟูกลับมาได้เกือบสมบูรณ์ ในบางครั้งระยะเวลากว่าจะเกิดการกำเริบของโรคอีกครั้งอาจจะกินเวลาถึง 20 ปี โดยการดำเนินของโรคเป็นไปอย่างช้ามาก

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคเอ็มเอสให้หายขาด แต่แพทย์สามารถชะลอการเกิดความพิการหรือลดจำนวนครั้งของการกำเริบของอาการโรคเอ็มเอสได้ โดยยาที่ใช้มีอยู่หลายชนิด ซึ่งในอดีตมีเฉพาะยาฉีดเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมียาเม็ดสำหรับรักษาโรคเอ็มเอสแล้ว ทำให้การรักษาสะดวกขึ้นและมีประสิทธิภาพดีกว่าสมัยก่อนมาก นอกจากนี้ แพทย์ยังสามารถรักษาตามอาการของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ให้ยาเพื่อรักษาอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ อาการปวด หรืออาการทางระบบขับถ่ายที่ผิดปกติ และยังมียาที่ช่วยให้ผู้ป่วยโรคเอ็มเอสสามารถเดินได้ดีขึ้นอีกด้วย

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุอย่างแน่ชัดว่า โรคเอ็มเอสเกิดจากสาเหตุอะไร จึงไม่สามารถหาวิธีการป้องกันได้ ดังนั้นการดูแลใส่ใจสุขภาพตนเอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียด รวมทั้งเมื่อพบความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายให้รีบไปพบแพทย์ทันที จึงน่าจะเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดให้ห่างไกลจากโรคเอ็มเอสและโรคร้ายแรงอื่นๆ

ขอขอบคุณ : ผู้จัดการ Online