จากข่าวอาการป่วยของน้องซีดี นักแสดงเด็กจากภาพยนต์ตุ๊กแกรักแป้งมาก ที่ป่วยเป็นโรคโมยาโมยา ที่ทำให้หลายคนสงสัย และ งง ? ว่า โรคนี้คืออะไร และมีคนสนใจเรื่องโรคโมยาโมยา กันมากขึ้น

 

โมยาโมยา

โรคโมยาโมยา คือโรคอะไร

 โรคโมยาโมยา แม้อัตราส่วนการเกิดโรคนี้อยู่เพียง 1 ในล้านคนเท่านั้น ทว่าแม้จะมีโอกาสเพียงแค่ 1 ในล้าน แต่ก็ใช่ว่าโรคโมยาโมยาจะไม่เกิดขึ้นเลยนะคะ

      โรคโมยาโมยา เป็นโรคที่เกิดจากหลอดเลือดสมองมีความผิดปกติ โดยพบว่ามีอาการอุดตันของผนังหลอดเลือดแดงคาโรติด ซึ่งเป็นหลอดเลือดสำคัญที่ลำเลียงเลือดเข้าไปเลี้ยงสมอง หรือในบางเคสอาจพบว่า หลอดเลือดแดงคาโรติดตีบตันจนทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ยากกว่าปกติ

ทั้งนี้คำว่า “โมยาโมยา” มาจากภาษาญี่ปุ่น ซึ่งแปลได้ว่ากลุ่มควันบุหรี่ เนื่องจากเมื่อหลอดเลือดสมองเกิดการอุดตันจนส่งเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอต่อความต้องการ หลอดเลือดสมองอื่น ๆ จะเข้ามาเป็นกองหนุนเพื่อลำเลียงเลือดเข้าไปเลี้ยงสมอง จนทำให้เกิดเส้นเลือดสมองรายล้อมคล้ายกลุ่มควันนั่นเอง

 

 

โมยา โมยา 2

 

สาเหตุของโรคโมยาโมยา

โรคโมยาโมยาอาจมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโครโมโซม หรือการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรืออีกนัยหนึ่งอาจเป็นความผิดปกติที่เกิดจากโรคเนื้องอกทางพันธุกรรมชนิดหนึ่ง โรคกลุ่มดาวน์ซินโดรม โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือโรคหลอดเลือดแดงในไตตีบ เป็นต้น

 โรคโมยาโมยาเกิดกับใครได้บ้าง

 โรคโมยาโมยาพบได้บ่อยในวัยเด็ก แต่ก็มีรายงานจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกาว่า โรคนี้สามารถเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ได้เช่นกัน ทว่าโรคโมยาโมยาก็เป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย ส่วนมากพบในประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และแอฟริกา และโดยเฉลี่ยแล้วโอกาสเกิดโรคจะมีเพียง 1 ในล้านคนเท่านั้น 

 

 

โมยา โมยา 3

 โรคโมยาโมยา อาการเป็นอย่างไร

อาการของโรคโมยาโมยาในระยะเริ่มแรกจะสังเกตได้จากอาการชัก ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หรือมีลักษณะอาการของภาวะเส้นเลือดในสมองตีบตัน เช่น การเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดปกติไป กล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียความสามารถในการใช้หรือเข้าใจคำพูด สมองขาดเลือดชั่วคราว (transient ischemic attack: TIA) ความจำด้อยประสิทธิภาพลง

 

 โรคโมยาโมยา รักษาได้หรือไม่

 การรักษาโรคโมยาโมยาสามารถทำได้โดยการผ่าตัดสมอง เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงส่วนสมองที่ขาด หรืออาจจะทำบายพาสในส่วนหลอดเลือดสมองที่มีการตีบตันเพื่อขยายหลอดเลือดให้ลำเลียงเลือดเข้าสู่สมองมากขึ้นก็ได้ ทั้งนี้ผลการรักษาโรคโมยาโมยาในผู้ป่วยเด็กจะมีเปอร์เซ็นต์ดีกว่าผลการรักษาในผู้ป่วยผู้ใหญ่ ทว่าแพทย์ก็ไม่สามารถการันตีผลการรักษาได้ 100% ว่าภายหลังจากการผ่าตัดแล้ว อาการของคนไข้จะกลับมาเป็นปกติได้หรือไม่ เพราะการรักษาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย รวมทั้งอาการของคนไข้แต่ละบุคคลด้วย

 โรคโมยาโมยา สังเกตอาการให้ชัดก่อนจะสาย

หากพบว่ามีอาการผิดปกติของหลอดเลือดสมอง เช่น มีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงบ่อย ๆ ตาลาย มองเห็นภาพเบลอ ชัก หรือมีการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ผิดปกติไป ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการเอกซ์เรย์สมองโดยด่วน เพราะหากปล่อยให้อาการลุกลาม ผู้ป่วยไม่ได้เข้ารับการผ่าตัดสมอง โอกาสที่สมองจะขาดเลือดหรือมีเลือดออกในสมองก็จะมากขึ้น ซึ่งเมื่อถึงภาวะนั้นก็เข้าข่ายอาการโคม่าแล้วนะคะ
 อาการผิดปกติเพียงเล็กน้อยของตัวเองหรือคนใกล้ตัวเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด เพราะเราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ภายใต้ความผิดปกติที่เราคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยนั้น แท้จริงแล้วอาจมีภาวะของโรคร้ายแฝงอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้นใส่ใจกันและกันให้มากขึ้นดีกว่านะคะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา