Mangosteen

 

     ในบรรดาผลไม้ไทยทั้งหลาย “มังคุด” ได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชินีแห่งผลไม้” ด้วยลักษณะภายนอกของผลที่มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่หัวขั้วของผลคล้ายมงกุฎของพระราชินีส่วนเนื้อในก็มีสีขาวสะอาด รสชาดอร่อย อย่างยากที่จะหาผลไม้อื่นมาเทียบได้ ในขณะที่ “ทุเรียน” จัดเป็น “ราชาแห่งผลไม้” ด้วยทั้งลักษณะภายนอกของผลที่เป็นหนามคล้ายมงกุฎของพระราชา และเนื้อในที่มีสีเหลืองทอง รสชาดที่แสนอร่อยยากจะหาผลไม้อื่นมาเทียบได้

     มังคุด เอกลักษณ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มังคุดมีฉายาในแถบเอเชียด้วยความภาคภูมิใจในผลไม้ชนิดนี้ว่า“ราชินีแห่งผลไม้,  the queen of fruits” มีฉายาในแถบ French Caribbean ว่า “อาหารของพระเจ้า” “the food of the Gods”  คนไทยรู้จักมังคุดเป็นอย่างดี รู้ว่ามังคุดเป็นยาเย็นหรือตามการแพทย์จีนเรียกว่ามีฤทธิ์ “ยิน” หลังจากกินทุเรียนที่มีรสร้อน หรือมีฤทธิ์เป็น “หยาง” แล้วต้องกินมังคุดตาม เพื่อทำให้ร่างกายเกิดความสมดุล

 

ประโยชน์ของมังคุด สรรพคุณเพียบ

การใช้ประโยชน์ทางยาและวิธีใช้พื้นบ้าน

      ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เปลือกผลที่สุกแล้วของมังคุดเป็นยา นิยมตากแห้งเก็บไว้ใช้ แต่ส่วนอื่นๆ ของมังคุดก็สามารถนำมาใช้เป็นยาได้เช่นเดียวกัน
ประเทศไทย ยาไทยส่วนใหญ่ใช้เปลือกผลมังคุดแก้ท้องเสีย แก้บิด และรักษาแผล

  • แก้ท้องเสีย โดยใช้เปลือกผลตากแห้ง 1/2-1 ผล ต้มกับน้ำปูนใสดื่มแต่น้ำ
  • แก้บิด ใช้เปลือกผลแห้ง 1/2 ผล ย่างไฟให้เกรียมฝนกับน้ำปูนใส 1/2 แก้ว ดื่มครั้งเดียวหรือใช้ผง 1 ช้อนชา ละลายน้ำข้าวหรือน้ำสุก ดื่มทุก 4 ชั่วโมง (ขนาดที่ใช้ 1/2 ผล จะได้น้ำหนักของสารสกัดประมาณ 116 +- 7 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่เพียงพอในการรักษาโรคท้องร่วงเมื่อเทียบกับขนาดที่ใช้ในการต้านเชื้อแบคทีเรียในการทดลอง)
  • รักษาแผล  เปลือกผลต้มน้ำใช้ชะล้างแผลที่เป็นหนอง  เน่าเปื่อย  หรือจะใช้เปลือกลำต้นตากแห้ง เปลือกผลดิบหรือเปลือกผลสุกมาฝนเป็นยาทาแผล

ประเทศอื่นๆ มีการใช้มังคุดเป็นยารักษาโรคคล้ายคลึงกันกับที่มีการใช้ประเทศไทย เช่น

  • ประเทศอินโดนีเซีย ใช้เปลือกไม้กินแก้บิด นำใบแห้งมาต้มดื่มแก้ไข้ บรรเทาอาการปวดท้อง
  • ประเทศจีน ได้นำเข้าเปลือกมังคุดแห้งแล้วนำไปบดเป็นผงใช้เป็นยาแก้บิด นำไปสกัดใส่ยาขี้ผึ้ง (ointment) ใช้ทาแก้ผื่นแพ้ (eczema) และปัญหาทางผิวหนังอื่นๆ เปลือกผลใช้ต้มกินเพื่อรักษาอาการท้องร่วงและทางเดินปัสสาวะอักเสบ โรคโกโนเรีย นำเปลือกผลไปแช่น้ำค้างคืนหรือทำเป็นชาชงเพื่อรักษาอาการท้องเสียเรื้อรังทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ และใส่สารสกัดเปลือกผลผสมในโลชั่นด้วยต้องการฤทธิ์ฝาดสมาน
  • ประเทศฟิลิปปินส์ ใช้ใบและเปลือกต้มน้ำเพื่อรักษาอาการท้องเสีย บิด ถ่ายพยาธิ และทางเดินปัสสาวะอักเสบ ทั้งยังเชื่อว่าการกินผลมังคุดจะควบคุมอาการไข้
  • ประเทศมาเลเซีย ใช้ใบมังคุดชงผสมกล้วยดิบและใส่เบนโซอินไปเล็กน้อยใช้ทาแผลที่ขริบ ใช้รากต้มดื่มเพื่อรักษาอาการประจำเดือนไม่ปกติ ใช้เปลือกแก้บิดโดยมีการสกัดสารจากเปลือกชื่อว่า “amibiasine”  ขายในท้องตลาดเพื่อรักษาโรคบิด
  • ประเทศแถบทะเลแคริบเบียน รู้จักมังคุดในชื่อของ “eau de Creole ” ซึ่งเป็นชาจากมังคุดมีฤทธิ์เป็นยาบำรุงแก้อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวหมดแรง ชาวบราซิลดื่มชามังคุดด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน ทั้งยังเชื่อว่าการกินมังคุดจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายเป็นปกติ

 

ผลใช้เป็นอาหาร

     ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยวหอมอร่อย กินเป็นผลไม้ นอกจากจะกินเป็นผลสุกแล้ว ทางภาคใต้ของประเทศไทยยังนิยมกินมังคุดในลักษณะ “มังคุดคัด” โดยนำมังคุดดิบที่แก่จัดแต่ยังไม่สุก กล่าวคือเริ่มเห็นสายเลือด มางัดเปลือกออก โดยให้เนื้อและเมล็ดคงรูปเดิม ไม่แตกกระจายออกจากกัน แล้วนำมาล้างน้ำให้สะอาด นำไปแช่น้ำเกลือที่มีความเค็มอ่อนๆ ทิ้งไว้ให้น้ำเกลือดูดซึมเข้าไปในเนื้อจนทั่ว แล้วใช้ไม้เสียบเรียงเป็นตับๆ แต่ละชุดมีเนื้อมังคุดเรียง 5-7 ผล มีความพยามที่จะทำมังคุดกระป๋องแต่ไม่อร่อยเนื่องจากเกิดการสูญเสียกลิ่นของมังคุดไปในกระบวนการฆ่าเชื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพาสเจอไรซ์นาน 10 นาที จากการทดสอบพบว่าวิธีทำมังคุดกระป๋องที่ดีที่สุดคือ การแช่ในน้ำเชื่อมเข้มข้นร้อยละ 40 ถ้าการฆ่าเชื้อแบบสเตอริไลซ์นาน 5 นาที ซึ่งมังคุดที่มีรสเปรี้ยวเหมาะที่จะทำมังคุดกระป๋องมากกว่า

     ในประเทศมาเลเซียมีการทำแยมมังคุดจากการนำเนื้อมังคุดที่ไม่มีเมล็ดมาต้มกับน้ำตาลในปริมาณที่เท่าๆ กัน เติมกานพลูไปเล็กน้อย ต้มนาน 15-20 นาที แล้วจึงนำมาเก็บไว้ในขวดแก้ว ในประเทศฟิลิปปินส์ มีวิธีเก็บมังคุดไว้กินนานๆ ง่ายๆ คือนำทั้งเนื้อและเมล็ดไปต้มในน้ำตาลทรายแดง บางประเทศมีการนำเมล็ดของมังคุดมาต้มหรือคั่วกินเป็นของว่าง ส่วนเปลือกของมังคุดมีสารที่เรียกว่า เพกทิน (pectin) สูงมาก หลังที่ไปกำจัดสารฝาดด้วยน้ำเกลือที่มีความเข้มข้นร้อยละ 6 แล้ว จะได้เจลลี่สีม่วง มีคุณสมบัติเหมือนเจลลี่ทั่วๆ ไป

 เปลือกมังคุด

     ส่วนเปลือกของมังคุดมีสารให้รสฝาด คือแทนนิน แซนโทน (โดยเฉพาะแมงโกสติน) ซึ่งแทนนินมีฤทธิ์ฝาดสมาน ทำให้แผลหายเร็ว ส่วนแมงโกสตินช่วยลดอาการอักเสบและมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองได้ดี ในทางยาสมุนไพร ใช้เปลือกมังคุดตากแห้งต้มกับน้ำหรือย่างไฟ ฝนกับน้ำปูนใส แก้ท้องเสีย เปลือกแห้งฝนกับน้ำปูนใส ใช้รักษาอาการน้ำกัดเท้า แผลเปื่อย นอกจากนี้ เปลือกมังคุดมีสารป้องกันเชื้อราเหมาะแก่การหมักปุ๋ย ชาวโอรังอัสลีในรัฐเประ ประเทศมาเลเซีย ใช้เปลือกผลแห้งรักษาแผลเปิด

น้ำมังคุด

     น้ำมังคุดช่วยปรับระดับภูมิคุ้มกันให้สมดุล ด้วยการหลั่งสาร Interleukin I และ Tumor Necrosis Factor ช่วยยับยั้งการหลั่งสารฮีสตามีน ลดอาการแพ้ภูมิตนเอง (ในโรค SLE) และลดการอักเสบ ในผู้ป่วยเบาหวาน ตับเสื่อม ไตวาย ข้อเข่าเสื่อม ความดันโลหิตสูง โรคพาร์กินสัน ไทรอยด์เป็นพิษ ความผิดปกติของสมองอันเนื่องจากการอักเสบ

 

 

มังคุด 3

 

 

จากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาการศึกษาในห้องทดลองพบว่าโรคและอาการที่มังคุดน่าจะนำมาใช้ประโยชน์มีดังต่อไปนี้

 

โรคและอาการทางผิวหนัง 

     เป็นที่รู้กันมาแต่โบราณตามที่กล่าวมาแล้วของต้นมังคุดว่าเป็นสมุนไพรที่ใช้ในโรคผิวหนังได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีการศึกษายืนยันการใช้ประโยชน์ในโรคนี้ จากการศึกษาพบว่า มังคุดมีสรรพคุณในการฆ่าเชื้ออย่างกว้างขวาง มีฤทธิ์ลดการอักสบ จึงควรที่จะนำมาพัฒนาเป็นยารักษาอาการ ผื่นแพ้ รักษาสิว ยาทาแผลฆ่าเชื้อที่ผิวหนัง จากการศึกษาพบว่ามังคุดมีคุณสมบัติ ดังนี้

ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง

     สารสกัดจากเปลือกมังคุดต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง (Staphylococcus aureus) ทั้งสายพันธุ์ปกติ และสายพันธุ์ที่ดื้อยาเพนิซิลลิน สารสำคัญที่แสดงฤทธิ์ คือ แมงโกสตินและการ์ตานิน โดยแมงโกสตินจะแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแรงที่สุด โดยมีประสิทธิภาพเทียบเท่ายาแวนโคไมซิน (vancomycin) สารสกัดจากเปลือกมังคุดต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง (Staphylococcus aureus) เทียบเท่ากับน้ำยาฆ่าเชื้อโพวิโดนไอโอดีน

รักษาแผลอักเสบและแผลเรื้อรัง

     แมงโกสตินป้องกันการเกิดแผลอักเสบในหนูขาว และครีมสารสกัดจากเปลือก ผลมังคุด (GM-1) สามารถรักษาแผลติดเชื้อเรื้อรังให้หายเป็นปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งแผลในผู้ป่วยเบาหวาน

ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว

สารสกัดเปลือกมังคุด มีฤทธิ์ต้านเชื้อที่ทำให้เกิดสิว Propionibacterium acnes และ Staphylococcus epidermidis ที่ดีมากชนิดหนึ่ง

บรรเทาอาการแพ้

     แกมมา- และ แอลฟา-แมงโกสติน จากเปลือกผลมังคุด  บรรเทาอาการแพ้และมีประสิทธิภาพดีในการรักษาผู้ป่วยไข้ละออง โดยแกมมา-แมงโกสติน แสดงฤทธิ์ต้านฮิสตามีน และแอลฟา-แมงโกสติน แสดงฤทธิ์ต้านซีโรโทนิน  เมื่อร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอมแมสต์เซลล์ (mast cells) และเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดเบโซฟิล จะหลั่งฮิสตามีนและซีโรโทนิน ทำให้เกิดอาการแดงเนื่องจาก  หลอดเลือดขยายตัวบวมเนื่องจากเพิ่มการซึมผ่านของหลอดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัวและฮิสตามีนจะเพิ่มการหลั่งน้ำเมือกด้วย ซึ่งฮิสตามีนมักจะทำให้เกิดอาการแพ้หรือที่เรียกว่าไข้ละอองฟาง

ป้องกันผิวจากแสงแดด

     ผลิตภัณฑ์ป้องกันผิวจากแสงแดด (sunscreen) ที่ประกอบด้วยแมงโกสติน ร้อยละ 20 สามารถป้องกันผิวจากแสงแดด  และมีค่าดัชนีในการป้องกันแสงแดด (sun protective factor; SPF) 10.4

โรคและอาการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร

     สารสกัดจากเปลือกผลมังคุดต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วงและกลุ่มเชื้อในลำไส้ (normal floras) ได้แก่ enteropathogenic Escherichia coli, Salmonella 6 ชนิด, Shigella 4 ชนิด, Vibrio 2 ชนิด เชื้ออื่นในลำไส้ 5 สกุล สารกลุ่มแซนโทนจากเปลือกผลมังคุด  ยับยั้งเชื้อเฮลิโคแบกเทอร์ไพโลรี ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารส่วนบน ได้แก่ แผลเพ็ปติก กระเพาะอาหารอักเสบ  มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น สารสำคัญที่ออกฤทธิ์  คือแกมมา-แมงโกสติน  สารในเปลือกมังคุดมีฤทธิ์ต้านอะมีบา ยาดองเปลือกผลมังคุดแห้ง เมื่อใช้ร่วมกับยาเอมิทีน (emitine) ให้ผลดีในการรักษาโรคบิดที่มีสาเหตุมาจากเชื้ออะมีบา และทำให้ใช้ขนาดของยาเอมิทีนน้อยลงกว่าเดิม

โรคและอาการทางหัวใจและหลอดเลือด

     สารแซนโทนได้แสดงคุณสมบัติหลายประการที่มีแนวโน้มว่าเป็นประโยชน์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด คุณสมบัติเหล่านั้นได้แก่ ฤทธิ์ในการต้านการออกซิเดชั่น ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือด ป้องกันหลอดเลือด คุณสมบัตินี้ป้องกันการเกิดออกซิเดชันของไขมัน  กลุ่มสารที่ออกฤทธิ์คือ แอนโทไซยานิน แมงโกสติน แอลฟาและแกมมา-แมงโกสติน  แกมมา-แมงโกสตินแสดงฤทธิ์แรงในการต้านออกซิเดชั่น และแมงโกสตินสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดอุดตัน  โดยป้องกันการเกิดไขมันชนิดเลว (LDL)

อาการอักเสบของกระดูกและกล้ามเนื้อ

     แมงโกสตินและอนุพันธ์ของแมงโกสติน คือ 1-isomangostin และ mangostin triacetate ลดการอักเสบที่อุ้งเท้าหนูขาว เมื่อให้สารสกัดจากเปลือกผลมังคุดทางปากและฉีดเข้าช่องท้อง และสารสกัดจากเปลือกผลมังคุด (GM-1) แสดงฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดีเป็น 3 เท่าของแอสไพริน โดยไม่มีผลกดภูมิคุ้มกัน และยังพบว่าสารสกัดของเปลือกมังคุดยับยั้งการหลั่งของฮิสตามีนและยับยั้งการสร้างพรอสตาแกลนดิน (prostaglandin E2) ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายหลั่งออกมาเมื่อมีอาการอักเสบ

โรคมะเร็ง

     นับว่ามังคุดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่น่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็ง จากสารแซนโทนที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) และนอกจากนี้ยังสารพวกคาเทชิน โพลีฟีนอล เกลือแร่ และวิตามิน ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งอีกด้วย  สารสกัดของมังคุดมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งหลายชนิดในหลอดทดลอง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งเม็ดเลือดขาว ทั้งยังมีฤทธิ์ต้านเนื้องอกโดยแสดงฤทธิ์ต้านเนื้องอกในหนูถีบจักร และต้านมะเร็งที่เกิดในเนื้อเยื่อ (sarcoma-180) สารกลุ่มแซนโทนจากเปลือกผลมังคุด  ยับยั้งเอนไซม์โทโพไอโซเมอเรส I และ II ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทในกระบวนการถ่ายแบบดีเอ็นเอ (DNA replication) เพื่อการดำรงชีพต่อไปของสิ่งมีชีวิต  โดยเอนไซม์นี้จะคลายเกลียวซุปเปอร์คอล์ยของดีเอ็นเอเพื่อให้เอนไซม์ชนิดต่างๆ เข้ามาทำการถ่ายแบบต่อไป คุณสมบัติดังกล่าวอาจยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งได้  นอกจากนี้สารโพลีแซคคาไรด์จากเปลือกมังคุด  ที่ความเข้มข้น 20 ไมโครลิตร/disc แสดงผลกระตุ้นการจับกินสิ่งแปลกปลอมของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์

โรคHIV

     สารสกัดเมทานอลและสารจากเปลือกผลมังคุด  ยับยั้งเอนไซม์โพรทีเอส (HIV-1 pro-tease) ซึ่งจำเป็นต่อวงจรชีวิตของเชื้อเอชไอวี และสารสกัดน้ำและสารสกัดเมทานอลจากเปลือกผลมังคุด ยับยั้งเอนไซม์รีเวอร์สทรานสคริปเทส (reverse transcriptase)

 

 

ยามังคุด

ใช่ว่า..มังคุดจะมีประโยชน์ด้านเดียว มาดูการศึกษาความเป็นพิษของมังคุดกันบ้าง

พิษต่อตับ

     เมื่อฉีดแมงโกสตินเข้าช่องท้องหนูขาว ขนาด 200 มิลลิกัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม พบว่าปริมาณของเอนไซม์ทรานซามิเนสในเซลล์ตับ (SGOT และ SGPT) เพิ่มขึ้น และถึงระดับสูงสุดหลังจากฉีดแมงโกสติน 12 ชั่วโมง เอนไซม์ทั้งสองนี้จะเพิ่มขึ้นตามขนาดของแมงโกสตินที่ให้และเมื่อให้แมงโกสตินทางปากแก่หนูขาว ขนาด 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เปรียบเทียบกับยาพาราเซตามอล พบว่าพาราเซตามอลจะเพิ่มปริมาณของเอนไซม์ดังกล่าว มากกว่าแมงโกสติน ปริมาณโปรตีนในตับหนูขาวที่ได้รับพาราเซตามอลจะลดลง ในขณะที่หนูขาวที่ได้แมงโกสตินไม่มีการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนที่ตับ แซนโทนจากเปลือกผลมังคุดที่ความเข้มข้น ๒๐๐ ไมโครกรัม/มิลลิลิตร แสดงฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์ตับของหนูขาว โดยทำให้ผนังเซลล์สูญเสียความคงตัว ปริมาณของเอนไซม์ทรานซามิเนสเพิ่มขึ้น ระดับฮอร์โมน Glomerular stimulating hormone (GSH) ลดลง การเกิด MDA (malondialdehyde) และ aminopyrine demethylase activity ไม่เปลี่ยนแปลง

     นอกจากนี้ พบว่าสารสกัดความเข้มข้น 0.02 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร มีผลลดอัตราการหายใจของไมโตคอนเดรีย เมื่อให้แซนโทน ขนาด 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทางปากแก่หนูขาว เป็นเวลา 3, 5 และ 7 วัน ติดต่อกัน ไม่ปรากฏพิษต่อเซลล์ตับ ปริมาณของเอนไซม์ทรานซามิเนส,  MDA และ aminopyrine demethylase ไม่เปลี่ยนแปลง  แต่พบว่าระดับฮอร์โมน GSH เพิ่มขึ้น ดังนั้น การกินมังคุดเป็นยาต้องให้อยู่ในขนาดที่เหมาะสม และยังคงต้องศึกษาหาขนาดที่เหมาะสมต่อไป

พิษระคายเคือง

     ครีมที่ประกอบด้วยสารสกัดจากเปลือกผลมังคุด (GM-1) ไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง หรืออาการแพ้ต่อผิวหนัง ยาทาแผลฆ่าเชื้อจากสารสกัดเปลือกมังคุด “การ์ซิดีน” ไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง หรืออาการแพ้ต่อผิวหนัง

     ดังนั้นการรับประทานที่ดีที่สุดคือการรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม และควรเลือกรับประทานผลไม้ให้หลากหลาย  ไม่อย่างนั้นผลไม้ที่มีประโยชน์มากมายมันอาจจะกลายเป็นโทษต่อร่างกายเสียเองได้นะค่ะ

 

 

ขอขอบคุณ : นิตยสารหมอชาวบ้าน