คณะแพทย์เตือน ประชาชน ระมัดระวังและใส่ใจ ฉลากยา และวันหมดอายุ

 

 

ยk

การรับประทานยา ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก อย่างที่รู้กันดีว่ายาไม่จำเป็นก็ไม่มีใครอยากรับประทานแน่นอน หากไม่เจ็บป่วย หรือคุณหมอสั่งให้ทานเพราะมีโรคประจำตัว แต่การทานยานั้นสิ่งที่ควรคำนึงมากที่สุดก็คือสภาพของยา สี กลิ่น ของยาที่เปลี่ยนไป  การสังเกตว่ายาหมดอายุหรือยัง ยายังอยู่ในสภาพดีหรือไม่ ยาหมดอายุบางชนิดทำให้ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารจนอาจกลายเป็นโรค กระเพาะอาหาร หรือแทนที่จะระงับโรคกลับทำให้โรคลุกลามมากขึ้น ตัวยาบางชนิดเมื่อเกิดการเสื่อมอาจก่อให้เกิดโทษและเป็นภัยแก่ร่างกาย ถึงกับทำให้ไตวายและไตอักเสบได้ ถึงแม้ยาที่ผลิตมานั้นจะผ่านกระบวนการผลิตตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตยา และผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาอย่างเข้มงวดแล้ว แต่ไม่อาจคงคุณภาพนั้นไว้ได้ตลอดกาล ละด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ยาแผนปัจจุบันทุกชนิดเป็นยาที่ต้องแจ้งกำหนดสิ้นอายุไว้ในฉลากด้วย

 

หากผู้บริโภคซื้อยามาแล้วยาถูกเก็บไว้นานเกินกว่าวันหมดอายุ ผู้บริโภคจึงไม่อาจทราบถึงคุณภาพของยานั้นได้ ส่วนใหญ่แล้วผู้บริโภคมักจัดเก็บยาไม่เป็นไปตามวิธีการจัดเก็บที่ถูกต้องซักเท่าไหร่ หรือยาถูกเปิดใช้ หรือเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ก็อาจส่งผลให้ยาเสื่อมสลายได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่มีความคงตัวต่ำอายุยาย่อมสั้นลง ซึ่งทางการเลยมาแนะนำวิธีการสังเกตยาหมดอายุ ซึ่งจะเป็นวิธีการตรวจสอบคุณภาพยาอย่างง่ายที่ผู้ใช้ยาสามารถทำได้เอง ข้อควรรู้พื้นฐานในการพิจารณาวันหมดอายุของยา มีดังนี้

1. ยาส่วนมากจะระบุวันที่ผลิตและวันหมดอายุไว้บนฉลากหรือซองยาอย่างชัดเจนอยู่ แล้ว โดยวันที่ผลิตจะเขียนว่า Manu.Date หรือ Mfg.Date ตามด้วยวัน เดือน ปี ของวันที่ผลิตยา ส่วนวันหมดอายุจะเขียนว่า Expiry Date หรือ Used before หรือ Expiring หรือ Use by แล้วตามด้วย วัน-เดือน-ปี ของวันที่ยาหมดอายุ

2. ยาที่มีการแบ่งบรรจุออกจากบรรจุภัณฑ์เดิม ทั้งในรูปแบบของแข็งและของเหลว เช่น ยานับเม็ดหรือยาน้ำแบ่งบรรจุ ให้มีอายุไม่เกิน 1 ปีหลังจากวันที่แบ่งบรรจุ

3. ยาน้ำที่มีสารกันเสียทั้งชนิดรับประทานและใช้ภายนอก หลังจากเปิดใช้ควรเก็บไว้ไม่เกิน 6 เดือน

4. ยาผงแห้งผสมน้ำ หลังจากผสมน้ำแล้ว อายุยาให้ยึดตามข้อมูลที่บริษัทระบุไว้บนฉลาก บางชนิดสามารถเก็บไว้ได้หลังจากที่ผสมน้ำแล้ว บางชนิดผสมน้ำแล้วต้องแช่เย็น เช่น ยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้ง บางชนิดต้องใช้ทันทีไม่สามารถเก็บไว้ได้ เนื่องจากไม่มีสารกันเสีย

5. ยาหยอดตา ยาป้ายตา หากเป็นชนิดที่ใส่สารต้านเชื้อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค(Preservative) โดยทั่วไปจะมีอายุไม่เกิน 1 เดือนหลังการเปิดใช้ เนื่องจากสารต้านเชื้อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคที่ใส่ไปมีประสิทธิภาพดีในช่วง 1 เดือน หากเป็นชนิดไม่เติมสารต้านเชื้อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคควรใช้ให้หมดภายใน 1 วัน

6. ยาที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ ที่มีการเปิดใช้แล้ว ควรสังเกตลักษณะของยาควบคู่ไปด้วย หากลักษณะทางกายภาพของยา (สี กลิ่น รส) เปลี่ยนแปลงไป เป็นการบ่งบอกถึงความไม่คงตัวของยา ก็ไม่ควรใช้ยานั้นต่อไป วิธีสังเกตยาเสื่อมคุณภาพ

  • ยาเม็ดแคปซูล แคปซูลมักจะบวมโป่ง ภายในแคปซูลจะสังเกตเห็นว่าผงยาเปลี่ยนสี อาจมีเชื้อราขึ้นที่เปลือกแคปซูล จับกันเป็นก้อน แถมมีสีที่เปลี่ยนไป ซึ่งต้องระวังให้มาก พราะยาหมดอายุบางอย่างหากกินเข้าไปอาจเป็นอันตรายต่อไต เช่น ยาเตตราซัยคลิน ถ้าผงยาเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาล ให้ทิ้งทันที เพราะนั่นหมายถึงมันได้เสื่อมสภาพแล้ว
  • ยาเม็ด เมื่อหมดอายุก็มักมีสีเปลี่ยนไป ซีดจางลง แตกกร่อน เป็นผงง่าย เอามือจับรู้สึกเม็ดยานิ่ม ๆ บีบเบาๆ ก็แตกแล้ว
  • ยาเม็ดที่เป็นแบบเคลือบน้ำตาล (เช่น วิตามินรวม) เม็ดยามักดูเยิ้มเหนียว มีกลิ่นหืนๆ บูดๆ
  • ยาน้ำแขวนตะกอน เช่น ยาคล้ายแป้งน้ำใช้ทาแก้คัน ยาลดกรด ถ้าเสื่อมก็จะตกตะกอน จับกันเป็นก้อน เกาะติดกันแน่น เขย่ายังไงก็ไม่กระจายตัว ทั้ง กลิ่น สี หรือรสก็เปลี่ยนไปจากเดิม
  • แต่ยาแก้อักเสบบางชนิดที่เป็นผงต้องเติมน้ำและเขย่าก่อนกินนั้น หากเติมน้ำเข้าไปในขวดเลยบางครั้งก็เขย่ายากมาก ไม่ยอมละลาย ก่อนเติมน้ำต้องเขย่าขวดให้ผงยากระจาย ไม่เกาะติดก้นขวดก่อนเติมน้ำ และเขย่าอีกครั้ง อย่างนี้ไม่ใช่เสียนะคะ แต่เขย่าผิดวิธี
  • ยาน้ำเชื่อม จะกลายเป็นสีขุ่นๆ ตกตะกอน เห็นเป็นผงๆ ไม่ละลาย หรือเห็นเป็นน้ำคนละสีลอยปะปนเป็นเส้นๆอยู่ และอาจมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว
  • ยาขี้ผึ้งและครีม ถ้าเสื่อมก็จะพบว่าเนื้อยาแข็ง เนื้อยาแห้งแข็ง หรือสีเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ยาหยอดตา หลายๆ ท่านอาจไม่ทราบว่ายาหยอดตามีอายุจำกัดนะ จึงนำมาหยอดตาทั้งๆ ที่เก่าเก็บเป็นปี หรือบางครั้งหลอดเล็กๆ ตัวหนังสือเล็กๆ วันเดือนปีเลือนหายไป การหยอดใกล้ตาอาจเกิดการปนเปื้อนจากขี้ตา หรือจากมือผู้ใช้ได้ง่าย ทางที่ดีอย่าเก็บนานเลยคะ สัก 1 เดือนในตู้เย็น หากไม่ได้ใช้ก็เคลียร์ทิ้งเถอะคะ
  •  ยาบางอย่างที่ต้องเก็บในตู้เย็น มียาบางอย่างเท่านั้นที่จำเป็นต้องเก็บไว้ในตู้เย็น เพื่อกันการเสื่อม เช่น ยาพวกวัคซีนที่ใช้ฉีด พบเห็นคลินิกไหน เอาวัคซีนมาจากตู้ยามาฉีดโดยไม่ได้เก็บไว้ในตู้เย็น ก็ต้องทักท้วงและทวงถามกันด้วยนะคะ
  • ยาเม็ดมากมายที่ใส่แผง (กระดาษฟรอยด์) ซึ่งกันทั้งความชื้นและกันการเสื่อมสภาพเร็ว จึงควรจะแกะยาต่อเมื่อถึงเวลาต้องกินแล้วเท่านั้น หากแกะออกมารวมๆกันในขวดอาจเสื่อม หมดอายุก่อนวันเวลากำหนด
  • ยาที่ได้จากโรงพยาบาลใส่ถุงซิปมาให้ ไม่มีวันหมดอายุ ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้ 5 ปีนะคะ แต่วันหมดอายุอยู่ที่กระป๋องยา โรงพยาบาล คลินิกมักจะไม่ได้เขียนไว้ในซองยาให้ ดังนั้น หากเป็นยาเม็ดที่เหลือค้างไว้ที่บ้าน อย่าเก็บไว้เกิน 1 ปีคะ  หากเป็นยาน้ำที่ไม่ใช่ยาแก้อักเสบ สัก 3 เดือนก็เคลียร์ทิ้งจะดีกว่าคะ

 

 เมื่อกินยา หรือกินอาหารหมดอายุ จะทำอย่างไร ?

สิ่งแรกที่ควรทำหากกินยาหมดอายุ คือการดื่มน้ำสะอาดตามมากๆคะ และเก็บฉลากหรือตัวยานั้นไว้ให้รู้ชนิดยาที่กิน จำนวนที่กินเข้าไป สังเกตลักษณะที่ผิดปกติ เช่น สีที่เปลี่ยน กลิ่นที่ผิดปกติ  สามารถโทรถามศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี หมายเลข 0 2201 1083 ซึ่งศูนย์พิษนี้จะเปิด 24 ชั่วโมง มีนักเภสัชวิทยาคอยให้คำแนะนำ บอกวิธีการปฐมพยาบาล และหากมีความปกติทางร่างกาย เช่น อาเจียน ท้องเสีย ภาวะต่างๆที่ดูเสี่ยง ไม่ปกติ ก็ต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านของท่านคะ

 

หวังว่าเกร็ดความรู้นี้จะทำให้ผู้อ่านที่ถือเป็นผู้ที่บริโภคยากันอยู่แล้วได้ทราบข้อมูลกันบ้าง การปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็เป็น อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ชีวิตของเราปราศจากอันตราย จากการรับประทานยาที่เสื่อมคุณภาพและหมดอายุได้อย่างแน่นอนคะ

 

ข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์